ที่มาโครงการ

หน้าหลัก / ที่มาโครงการ

โครงการวิจัยการสำรวจแผนที่ข้อมูลประเด็นความขัดแย้งในประเทศไทย

( Conflict Mapping Thailand )

หลักการและเหตุผล

    การจัดทำแผนที่ความขัดแย้ง (Conflict Mapping) เปรียบเสมือน เครื่องมือพื้นฐานที่ใช้ในการวางแผนการแก้ไขความขัดแย้ง ด้วยการสร้างแผนภาพง่ายๆ แล้วระบุประเด็นการขัดแย้ง การแจกแจงคู่ขัดแย้ง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้ง และการประเมินทางเลือกต่าง ๆ ในการแก้ไข เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพรวมของสถานการณ์ตรงกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารเพื่อหาทางออกร่วมกันในกาดำเนินงานต่อไปในอนาคต และความขัดแย้งสามารถพบได้ในหลากหลายระดับตั้งแต่ระดับจุลภาค จนถึงระดับมหภาค ตั้งแต่ใน ระดับท้องถิ่น ระดับท้องที่ในจังหวัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และระดับประเทศ ความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านั้นทำให้เกิดความสูญเสียทั้งงบประมาณ การเสียชีวิต และจิตใจที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ตามกรอบแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานหลายกรณีใช้เวลาเยียวยาหลายชั่วอายุคน ทางสถาบันพระปกเกล้าได้สนับสนุนให้นักวิจัยในพื้นที่ความขัดแย้งจัดทำ Conflict Mapping

โดยในระยะของงานวิจัยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นั้นเน้นการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อเป็นมาตรฐานของแต่ละปี โดยมี Platform ในการเก็บข้อมูลตามมิติความขัดแย้ง (Conflict Dimension) ต่าง ๆ ต่อไปนี้

    1) มิติความขัดแย้งทางการเมือง เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ความไม่ลงรอยกัน ไปจนกระทั่งถึงการสูญเสียทรัพย์สิน และสูญเสียชีวิต โดยความขัดแย้งนั้นเกิดมาจากสาเหตุความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งอาจเป็นการที่มีทัศนคติที่เห็นต่างทางการเมือง การแบ่งขั้วทางการเมือง และสาเหตุความขัดแย้งที่ปรากฏอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทางการเมือง ตัวอย่างความขัดแย้งทางการเมืองในไทยมีหลายระดับ เช่น การแสดงออกผ่านการถกเถียงในระบบรัฐสภาตามครรลองประชาธิปไตย การไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ นอกรัฐสภาจนนำไปสู่การชุมนุมทางการเมือง และลุกลามเป็นการก่อความไม่สงบ การใช้มาตรการปราบปรามโดยรัฐ และความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาตลอด ประเด็นที่จุดประหายความขัดแย้งได้ตลอดเวลาคือ ความพยายามทำให้อำนาจที่ครอบครองของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มคลายตัวและให้อำนาจกระจายสู่ประชาชนอย่างแท้จริง

th

    2) มิติความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระดับชุมชุน ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งความขัดแย้งรุนแรงนั้นก่อเกิด ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ การสูญเสียทรัพย์สิน และสูญเสียชีวิต โดยความขัดแย้งนั้นเกิดมาจากสาเหตุความขัดแย้งทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ตัวอย่างความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในไทยมีหลายระดับ เช่น ประชาชนประท้วงจากความเดือดร้อนประเด็นเศรษฐกิจ เช่น ชาวบ้านประท้วงเรื่องราคายาง ราคาอ้อย ราคาปาล์ม เป็นต้น ซึ่งความเหลื่อมล้ำในมิติเศรษฐกิจ เป็นความเหลื่อมล้ำที่ประเทศไทยติดอันดับหนึ่งใน ปี ค.ศ .2008 โดยCredit Swiss เมื่อสินทรัพย์ของคนทั้งประเทศไทยมากกว่า 77% ไปกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่สุดของไทยที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด ก็ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลกในปีนั้น และความเหลื่อมล้ำในมิติเศรษฐกิจนั้น นำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ ตามมาเช่นปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการคอร์รัปชัน เป้นต้น

th

    3) มิติความขัดแย้งทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากสาเหตุความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะสาเหตุความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงและการกระจายทรัพยากรธรรมชาติที่มาสมดุล และนอกจากนี้ ยังมีสาเหตุความขัดแย้งที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยพิบัติน้ำท่วม ภัยพิบัติวาตภัย เป็นต้น เนื่องจากสาเหตุความขัดแย้งที่กล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน และสูญเสียชีวิต แม้กระทั่งเป็นความขัดแย้งด้านการจัดการทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐ/ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/ และองค์กรเอกชน ตัวอย่างมิติความขัดแย้งทางทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดในประเทศไทยได้แก่ ประเด็น การทำSEA ที่เมืองอุตสาหกรรมใหม่จะนะ การประท้วงกรณีเขื่อนแม่วงก์ การประท้วงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น

th

    4) มิติความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากสาเหตุความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นหลัก ซึ่งความขัดแย้งในมิตินี้จะเป็นความขัดแย้งที่กระทบกับเรื่อง “อัตลักษณ์” เป็นสำคัญเนื่องจากการละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม มีการเลือกปฏิบัติ เกิดความไม่เป็นธรรมสร้างความแค้นเคืองให้คนในพื้นที่ กระทั่งคนที่ดำรงอัตลักษณ์ของตนต้องการเสรีภาพ อิสรภาพ เพื่อจะได้สามารถคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตนไว้ เป็นต้น

th

คำถามสำคัญที่ต้องการคำตอบของงานวิจัยชิ้นนี้ คือ ความขัดแย้งที่เกิดจากหรือมีผลมาการดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ ตามแนวนโยบายของรัฐนั้น มีมากน้อยเพียงใดใน แต่ละพื้นที่ที มีความแตกต่างกันในบริบทของพื้นที่มีแนวทางบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไร และผลของการบริหารจัดการความขัดแย้งในแต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัดนับเป็นอย่างไร รวมไปจนถึงการมองภาพการบริหารจัดการความขัดแย้งร่วมกัน เพื่อจะเดินทางไปข้างหน้าร่วมกันอย่างไรอย่างสร้างสรรค์ และเปลี่ยนแปลงกระแสของ “ความขัดแย้ง” เป็น บรรยากาศของ “ความร่วมมือ” กันเพื่อพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

โครงการวิจัยการสำรวจแผนที่ข้อมูลประเด็นความขัดแย้งในประเทศไทย (Conflict Mapping Thailand ) Phase 4 โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เล็งเห็นความสำคัญในการสำรวจองค์ความรู้การจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อจัดทำข้อมูลสาเหตุ คู่ขัดแย้ง ความสำคัญของปัญหา และสถานะปัจจุบันของความขัดแย้งทั่วประเทศ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาความขัดแย้งที่สำคัญ และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจในแต่ละภูมิภาคตระหนักถึงความสำคัญของความขัดแย้งที่เกิดขั้น จากโครงการต่าง ๆ ตามแนวทางของรัฐโดยจัดทำฐานข้อมูลในพื้นที่ของตนอย่างเป็นระบบและเป็นการสร้างองค์ความรู้ความขัดแย้งที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมโดยนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงข้อมูลได้จริง ซึ่งผู้วิจัยจึงได้ประยุกต์แนวคิดดังกล่าว เพื่อสำรวจ ศึกษา จัดเก็บ และรวบรวมข้อมูลประเด็นความขัดแย้งที่เกิดจากหรือมีผลมาการดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ ตามแนวนโยบายของรัฐ ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยผ่านการเข้าถึง (Appreciation) ให้ผู้ใช้ได้เข้าใจ (Understanding) สถานการณ์ความขัดแย้งนั้น ๆ โดยการศึกษาวิจัยถึงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ (Area Based) โดยวิธีการศึกษาและวิเคราะห์ถึงสาเหตุ (Roots of conflict) พลวัตรของความขัดแย้ง (Dynamics of conflict) และแนวทางการบริหารความขัดแย้งที่ใช้ ตลอดจนผลลัพธ์จากการดำเนินการดังกล่าว (Conflict management approached) เพื่อนำเสนอทางเลือกในการบริหารความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ในอนาคต โดยการสรุปประเด็นความขัดแย้งที่เป็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของแต่ละพื้นที่ตลอดจน สร้างพื้นที่เพื่อการร่วมกันต่อยอดและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำผลจาการป้อนข้อมูลงานวิจัยไปใส่ลงในระบบฐานข้อมูล

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อออกแบบและสร้างระบบการจัดเก็บฐานข้อมูลและสำรวจข้อมูลแผนที่ความขัดแย้งอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน สามารถวิเคราะสถานการณ์ความขัดแย้ง (analyzing a conflict situations) ได้อย่างทันท่วงที

    2. เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลความขัดแย้งทั่วประเทศลงใน IT technology อย่างเป็นระบบในรูปแบบของแผนที่อิเล็กทรอนิสก์ (Conflict Mapping Thailand) ให้เป็นมาตรฐานของประเทศไทย โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก และสามารถใช้งานได้บนหลากหลายอุปกรณ์ทั้งเครื่อง Computer Notebook Mobile หรือ Tablet

    3. เพื่อนำฐานข้อมูลความขัดแย้งพัฒนาสู่รูปแบบแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ และระบบเตือนภัยความขัดแย้งรุนแรง (Violence –Conflict Early Warning System Database) มีระบบแจ้งเตือน (warning system) สำหรับเฝ้าระวังสถานการณ์ความขัดแย้ง (monitoring conflict situations) ให้กับสังคมไทย

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5

ฝั่งทิศใต้ เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง

เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

หมายเลขโทรศัพท์ภายใน: 02-141-9600

อีเมล: webmaster@kpi.ac.th

@ 2019 King Prajadhipoks Institute The Government Complex Commemorating All Right Reserved.